ประวัติและความเป็นมาของอัยการ

บทบาทหน้าที่ของอัยการก็คือการเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลย หรือช่วยว่าความให้กับฝ่ายโจทก์ หรือผู้ร้องทุกข์ ซึ่งอัยการจะเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ดังนั้นลักษณะของอัยการจึงมักต้องมีความเที่ยงตรง ยุติธรรม ชัดเจนในข้อกฎหมาย ในการที่จะเอาผิดต่อผู้ต้องหา อัยการจึงเป็นส่วนสำคัญในกลไกของระบบยุติธรรมสากล

แล้วในประเทศไทย ประวัติที่มาของอัยการเป็นอย่างไรบ้าง หรือว่าเรารับระบบนี้มาจากตะวันตกหรือไม่

อันที่จริงแล้ว มีการพบคำว่า “อัยการ” จากในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว ตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงตราไว้ ในจุลศักราช 720 (ตรงกับพ.ศ.1901) มีความว่า

“..จึงต้องพระราชอาญาอัยการ ทหาร พ่อเรือน ชายหญิง สมณพรหมณ์จารย์..”

จะเห็นว่า คำว่าอัยการมีปรากฏมานานแล้ว แม้ว่าจะมีการเขียนแตกต่างกันไปบ้าง เช่น คำพระราชปรารภในกฎหมายตราสามดวง ใช้คำว่า “พระไอยการ” หรือบ้างก็ใช้คำว่า “พระอายการ” เป็นต้น

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ ประพันธ์ ได้ทรงอธิบายโดยยกพระราชปรารภในประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 และในลักษณะพระธรรมสาตร มาพิจารณาว่า

“แลฝ่ายข้าง อาณาจักร กสัตรผู้จะครองแผ่นดินนั้นอาศัยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมาย พระอายการ อันกสัตร แต่ก่อนบัญญัติไว้ให้เป็นบรรทัดฐานจึงพิพากษา ตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกำหนดบท พระอายการนั้น ก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดข้าทูลอองฯ ที่มีสติปัญญาได้ 11 คน ชำระพระราช กำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมสาตรไปให้ถูกถ้วนตามบาลีเนื้อความผิดมิให้ผิดเพี้ยน…”

แล้วในพระธรรมสาตรก็ยังมีข้อความว่า “อันสาขาคดีนั้น คือ ลักษณะพระราชกำหนดบทพระอายการ และพระราชบัญญัติซึ่งจัดเป็นพระราชสาตรทั้งปวง อันโบราณราชกสัตรทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึง ตามพระ คัมภีร์พระธรรมสาตร แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็น พระราชกำหนดบทพระอายการไว้โดยมาตราเป็นอันมากทุก ๆ ลำดับ กสัตรมาตราบเท่าทุกวันนี้”

พระเจ้าวรวงศ์จึงทรงวินิจฉัยว่า อายการ ทั้งสองคำที่ปรากฏอยู่นี้ ก็คืออัยการนั่นเอง มีความหมายว่า ผู้รักษา ดังนั้นอัยการในความหมายของคนยุคก่อน จึงหมายถึง ผู้รักษากฎหมาย และดำเนินการตามกฎหมายที่ได้มาตราไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยน

ภายหลัง พลตรี สุข เปรุนาวิน เนติบัณฑิต อดีตอัยการ และหลวงอรรถไกวัลวที อดีตรองอธิบดีกรมอัยการ ได้ร่วมกันเรียบเรียง “ระบอบอัยการ” ตีพิมพ์ลงในหนังสือบทบัณฑิตย์เพื่อเล่าเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของอัยการในประเทศไทย โดยสรุปว่า เดิมทีแล้วอัยการถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจการยุติธรรมมาแต่โบราณ แต่สมัยนั้นยังไม่ได้เรียกคำว่าอัยการ คำนี้เพิ่งจะเริ่มใช้กับเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาในศาล หลังจากก่อตั้งกระทรวงยุติธรรมแล้ว

สรุปแล้ว คำว่า อัยการจึงมีในพระราชบัญญัติหรือในกฎกระทรวงบ้างว่า เจ้าพนักงานกรมอัยการ หรือเจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมาย จนกระทั่งถึง ร.ศ.114 เมื่อได้มีกฎหมายพระธรรมนูญศาลหัวเมืองบัญญัติ ถึงการแต่งตั้งอัยการในหัวเมือง จึงได้มีการเรียกอัยการว่า พนักงานอัยการต่อมา

โดยสรุปแล้ว ความหมายของอัยการในยุคโบราณของไทย ก็คือ ข้าแผ่นดินผู้รับใช้ราชสำนักในการควบคุมดูแลการใช้กฎหมายและรับคำร้องได้ด้วย เพียงแต่ระบบการบังคับใช้กฎหมายในสมัยนั้นก็จะมีข้อแตกต่างออกไป