ภาระหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่ควรรู้

ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานอัยการ มีหลายระดับชั้นด้วยกัน ทั้งนี้ เราไม่สามารถแยกออกได้จากอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดและจากของเจ้าพนักงานอัยการได้ เพราะนโยบายและข้อกำหนดทางกฎหมายที่มอบอำนาจให้สำนักงานอัยการสูงสุด ก็คือ Policy ที่เจ้าพนักงานทุกคนต้องรับไปปฎิบัติตามนั้น

วันนี้เรามาลองดูจากในข้อกฎหมายว่า มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง

ถ้าอ้างอิงตามมาตรา ๒๓ สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการและงานวิชาการ เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้พนักงานอัยการ แล้วยังมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมายรวมตลอดทั้งในการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
  • ให้คำปรึกษาและตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ
  • ให้คำปรึกษาและตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่นิติบุคคล ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  • ดำเนินงานเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง หรือคดีปกครองแทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งพนักงานอัยการได้รับดำเนินคดีให้
  • ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ เว้นแต่ว่า การดำเนินการนั้นจะขัดต่องานในหน้าที่ หรืออาจทำให้ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
  • ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาข้าราชการในฝ่ายอัยการ
  • ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน
  • ติดต่อและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือของสำนักงานอัยการสูงสุด

สำหรับการตรวจร่างสัญญาตาม (๒) และ (๓) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รักษาประโยชน์ของรัฐ ในการนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รายงานรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๒) หรือนิติบุคคลตาม (๓) ที่เป็นคู่สัญญาให้ทราบถึงข้อที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขให้สมบูรณ์ ข้อเสียเปรียบหรือข้อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

สำหรับขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด อ้างอิงจากมาตรา ๒๗ มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

  • กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด
  • ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการ ปฏิบัติราชการ และบริหารงานบุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และประเพณีปฏิบัติของราชการ
  • บริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงานอัยการสูงสุด หรือจะมอบอำนาจให้อัยการผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติหน้าที่แทนได้

 

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าอำนาจและขอบเขตหน้าที่ของอัยการสูงสุด ก็เป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนดบทบาทให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด ในการช่วยเหลือบริการประชาชนและผู้เดือดร้อน ครอบคลุมในทุกส่วนของคดีทางแพ่งและอาญา ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานทางกฎหมายของสำนักงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วย ขณะเดียวกัน จากในข้อ (๕) จะเห็นได้ว่าอัยการสูงสุดไม่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐมนตรีร้องขอมาก็ได้ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการขัดต่อหน้าที่ของตน ความถูกต้องเที่ยงธรรมจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เจ้าพนักงานอัยการจำเป็นต้องมี