ศึกษาพรบ.คนไร้ที่พึ่ง

พรบ.คนไร้ที่พึ่งคืออะไร

พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557  หรือ พรบ.คนไร้ที่พึ่งนั้น  มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ถือว่าเป็นพัฒนาการทางกฎหมายของประเทศไทยเราเลยก็ว่าได้  ที่มีเจตนารมณ์ในการที่จะดูแลกลุ่มบุคคลที่ไร้ที่พึ่งและเป็นผู้ที่เปราะบางทางสังคม เป็นการช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้ที่พึ่ง เพื่อยกระดับระดับคุณภาพชีวิตของบุคคลที่ไร้ที่พึ่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการประกาศข้อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ได้ปรากฏข้อวิพากษ์วิจารณ์บางประการในบางบทบัญญัติ เช่น การใช้คำในมาตรา 3 คำว่า “คนไร้ที่พึ่ง” หมายถึงใครบางคนในมาตราที่ 22 มีมาตรการในเชิงบังคับว่า บุคคลไร้ที่พึ่งนั้นจำเป็นที่จะต้องเลือกว่า จะเข้าสถานคุ้มครองฯหรือ เลือกที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่น คนเร่ร่อน ที่กระทำความผิดกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต้องเลือกว่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยถูกปรับ หรือว่าจะเข้าสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเป็นการทดแทน มาตรานี้ทำให้นักวิชาการหลายท่านค่อนข้างที่จะเป็นกังวลและมีการถกเถียงกันเพราะเป็นเชิงบังคับคนไร้ที่พึ่งมากเกินควร

นิยามของบุคคลไร้ที่พึ่งคือ บุคคลที่ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ บุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบากไม่สามารถพึ่งพาบุคคลอื่นได้ บุคคลเร่ร่อน บุคคลที่ซึ่งอาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักนอนชั่วคราว บุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์แต่ยังไร้สัญชาติ บุคคลผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เป็นต้น

แนวทางการคุ้มครองบุคคลไร้ที่พึ่งตามกฎหมาย

  1. คนไร้ที่พึ่งนั้นมีสิทธิที่จะขอรับการคุ้มครองจากสถานสงเคราะห์ หรือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
  2. กำหนดหน้าที่ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ หากมีการพบเห็นหรือได้รับแจ้งเกี่ยวกับคนไร้ที่พึ่ง มีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือ และจัดส่งไปยัง สถานสงเคราะห์ หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
  3. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในแต่ละรายนั้น ให้สถานสงเคราะห์ หรือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพึงพิจารณาตามความเหมาะสมตามสภาพปัญหาของคนไร้ที่พึ่งในแต่ละราย และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
  4. ให้มีการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หากเกิดกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับการพักอาศัย ในที่สาธารณะ
  5. ให้มีการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในกรณีที่เป็นบุคคล ซึ่งมีกฎเฉพาะในการคุ้มครอง
  6. มีการกำหนดให้คนไร้ที่พึ่งที่จะเข้าอยู่อาศัยในสถานคุ้มครอง คนไร้ที่พึ่งต้องจัดให้มีการทำข้อตกลงระหว่างสถานสงเคราะห์หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ว่าต้องมีการเข้าร่วมฟื้นฟู ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ การฝึกฝนในการประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ
  7. ระหว่างที่มีการฝึกอาชีพ หรือเริ่มต้นประกอบอาชีพ คนไร้ที่พึ่งอาจได้รับเงินช่วยเหลือ ในการยังชีพอย่างเหมาะสมในระเบียบที่คณะกรรมการเห็นชอบและกำหนด
  8. สถานสงเคราะห์ หรือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต้องปกปิดข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของคนไร้ที่พึ่ง
  9. หาในกรณีที่คนไร้ที่พึ่งนั้นไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากสถานสงเคราะห์ หรือ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับประเทศไทยนั้น วิธีปฏิบัติต่อคนไร้ที่พึ่ง แต่ก่อนนั้นเป็นไปในรูปแบบที่คล้ายกับการปราบปราม แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นในรูปแบบการคุ้มครองสิทธิ์ของทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนมากขึ้น แต่ก็ยังดูเหมือนว่า หน่วยงานของภาคเอกชนในบ้านเรานั้น ทำงานเชิงรุกได้มากกว่าหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะลักษณะองค์กรของเอกชนที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและการลงทุนค่อนข้างคล่องตัวมากกว่าของภาครัฐ

พ.ร.บ.คนไรที่อยู่